ฟันผุนิดเดียว ไม่เป็นอะไรจริงหรอ??
“ฟัน” นับเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่สำคัญของร่างกายที่ต้องหมั่นดูแลรักษาให้มีความแข็งแรง เพราะนอกจากจะช่วยในการบดเคี้ยวอาหารแล้ว ฟันยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดี
โครงสร้างของฟัน
- เคลือบฟัน (Enamel) เป็นส่วนผิวที่คลุมอยู่ชั้นนอกสุดของฟัน เป็นชั้นที่แข็งแรงที่สุด ทำหน้าที่ป้องกันโครงสร้างภายในของฟัน รับน้ำหนักในการบดเคี้ยว โดยมีโครงสร้างเป็นผลึก ไม่มีเส้นเลือดและเส้นประสาท จึงเป็นส่วนที่ไม่ได้รับความรู้สึก เวลาที่ฟันเริ่มผุจึงไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ
- เนื้อฟัน (Dentine) เป็นส่วนประกอบถัดเข้ามาจากเคลือบฟัน ประกอบด้วยท่อเล็กๆ จำนวนมาก ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างเคลือบฟันและโพรงประสาทฟัน โดยในท่อแต่ละท่อจะมีเส้นประสาทและของเหลวที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทอยู่ ถ้าหากฟันผุลึกถึงชั้นเนื้อฟันจึงทำให้รู้สึกปวดฟัน หรือเสียวฟันได้
- โพรงประสาทฟัน (Dental pulp) เป็นช่องภายในฟันที่มีเนื้อเยื่ออ่อนของเซลล์ชนิดต่างๆ เส้นประสาท เส้นเลือด ระบบน้ำเหลือง โพรงประสาทฟันนอกจากเป็นส่วนที่ช่วยลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงเนื้อฟันแล้ว ยังทำหน้าที่ในการรับรู้ความรู้สึกอีกด้วย เมื่อฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟันและเกิดการอักเสบ จะทำให้มีอาการปวดฟันอย่างมากโดยเฉพาะในเวลานอน เนื่องจากขณะที่เรานอน ฟันจะอยู่ระนาบเดียวกับหัวใจ ทำให้ของเหลวจากการอักเสบของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทออกมาคั่งอยู่ในคลองรากฟันได้มาก จึงทำให้มีอาการปวด
- เหงือก (gum) เป็นเนื้อเยื่อที่เต็มไปด้วยเส้นเลือดทำหน้าที่หุ้มยึดคอฟันและรากฟันไว้ในกระดูกขากรรไกร
- กระดูกเบ้าฟัน (alveolar bone) เป็นกระดูกขากรรไกรที่รากฟันฝังอยู่ มีหน้าที่รองรับรากฟัน การที่มีฟันผุและโรคเหงือกอักเสบรุนแรงสามารถทำให้กระดูกเบ้าฟันละลายตัว ฟันโยก และนำไปสู่การสูญเสียฟัน
ฟันผุเกิดจากอะไร?
ฟันผุ เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก มีฤทธิ์ทำลายผิวฟัน เกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ คนส่วนใหญ่จะละเลยไม่ไปหาหมอฟันเพื่อทำการรักษา เพราะปรากฏเป็นแค่รอยฟันผุในระยะแรก และไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดมาก แต่หากปล่อยไว้จะเกิดเป็นรูขึ้น โดยเริ่มจากรูเล็กๆ ลุกลามใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโรคฟันผุทะลุโพรงประสาทฟันได้
ระดับความรุนแรงของอาการฟันผุ
สาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุ
- การรับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล
แป้งและน้ำตาลถือเป็นสาเหตุแรกที่ก่อให้เกิดฟันผุ เพราะน้ำตาลที่อยู่ในอาหาร ขนมหวาน อย่างน้ำตาลซูโครส (Sucrose) หรือน้ำตาลที่ได้รับจากการย่อยแป้ง เมื่อสะสมมากๆ แบคทีเรียในช่องปากและน้ำตาล จะทำให้เกิดคราบจุลินทรีย์ปกคลุมผิวฟัน หรือเรียกว่า คราบพลัค (Plaque) ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคฟันผุ หินปูน หรือโรคเหงือกได้
- แบคทีเรียที่เกาะบนผิวฟัน
แบคทีเรีย นอกจากจะทำให้เกิดคราบพลัคแล้ว ยังเป็นตัวที่ไปย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และสร้างกรดอินทรีย์ เช่น กรดแลคติกออกมา ทำให้เกิดสภาวะความเป็นกรดในช่องปาก ซึ่งกรดดังกล่าวจะไปละลายแร่ธาตุบนผิวเคลือบฟัน ทำให้ผิวเคลือบฟันกลายเป็นสีน้ำตาลดำและแตกออกเป็นรูฟันผุได้
- ระยะเวลาที่เกิดกรดในช่องปาก
การที่ปล่อยให้มีแบคทีเรียเกาะอยู่บนผิวฟันจะทำให้เกิดสภาวะเป็นกรดในช่องปาก ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่รับประทานอาหาร แบคทีเรียก็จะย่อยสลายอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล แล้วปล่อยกรดออกมา หากรับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลบ่อยๆ ใช้เวลารับประทานอาหารแต่ละมื้อนานขึ้น ช่องปากก็จะมีระยะเวลาที่เป็นกรดที่นานขึ้น ซึ่งหากปล่อยให้ช่องปากอยู่ในภาวะเป็นกรดนานเท่าไร โอกาสที่จะเกิดฟันผุก็ยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย
- การสูญเสียแร่ธาตุจากสภาวะกรดในช่องปาก
การที่เชื้อแบคทีเรียทำการย่อยสลายเศษอาหารและทำให้เกิดกรดขึ้นมาในช่องปาก กรดเหล่านี้จะเข้าไปทำปฏิกิริยากับบริเวณเคลือบฟันด้านนอกและเนื้อฟัน โดยการสลายแร่ธาตุที่เป็นโครงสร้างของฟัน ทำให้ฟันผุกร่อน ซึ่งการสลายแร่ธาตุของฟันจะทำให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุ (Demineralization) จากตัวฟันจนกลายเป็นกระบวนการเริ่มต้นของโรคฟันผุ
ส่วนใดของฟันที่ผุได้ง่ายที่สุด
- ฟันผุบริเวณพื้นเคลือบฟันที่ใช้ในการบดเคี้ยว เพราะคราบแบคทีเรียซึ่งมักติดอยู่ตามร่องฟัน พบบ่อยในเด็กเนื่องจากการละเลยการแปรงฟันในบริเวณนี้
- ฟันผุระหว่างซอกฟัน เพราะเป็นบริเวณที่ยากต่อการเข้าถึง ซึ่งไม่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยการแปรงฟันเพียงอย่างเดียว
- ฟันผุที่บริเวณรากฟัน เกิดขึ้นจากภาวะเหงือกร่น หรือการสูญเสียของกระดูกฟัน ที่มีสาเหตุมาจากโรคเหงือก หรือโรคปริทันต์อักเสบ
อาการที่พบบ่อย ที่บอกว่าเริ่มมีฟันผุ ได้แก่
- มีอาการเสียวฟันมากขึ้น โดยเฉพาะตอนที่ดื่มหรือรับประทานอาหารที่มีรสหวาน ร้อนจัด หรือเย็นจัด
- มีอาการปวดฟัน
- มีเศษอาหารติดบริเวณซอกฟันบ่อยขึ้น
- มีฟันแตกเป็นรู เป็นช่อง มีจุดสีดำที่ฟัน
วิธีการรักษาฟันผุทำได้อย่างไรบ้าง
- เสริมฟลูออไรด์ให้กับฟัน
- การอุดฟัน
- การรักษารากฟัน
- การถอนฟัน
#สามารถป้องกันฟันผุได้อย่างไร?
- หมั่นดูแลสุขภาพช่องปาก แปรงฟันวันละสองครั้ง และใช้ไหมขัดฟันตามซอกทุกวัน
- รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลน้อย ลดการรับประทานอาหารรสเปรี้ยวและน้ำอัดลม
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จำกัดเครื่องดื่มรสหวานและของว่างที่มีน้ำตาลซี่งทำให้ฟันผุได้
- ควรพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนเป็นประจำ เนื่องจากฟันผุระยะแรกอาจยังไม่มีอาการใดๆ
สนับสนุนข้อมูลโดย: ทพ. อัครพล เล้าสุทธิพงศ์ ทันตกรรมเฉพาะทางทันตกรรมประดิษฐ์
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ทันตกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ทันตกรรมเฉพาะทาง